เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ตลอดเวลานับสิบปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของของบริษัท มิตซูบิชิมอเตอร์(MITSUBISHI MOTOR.CO.,LTD) ที่ได้มานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางบริษัท ได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางด้านวงการมอเตอร์สปอร์ตหลายรายการด้วยกัน แต่ที่เห็นโดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นการแข่งขันแรลลี่โลก หรือ World Rally Championship(WRC) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าทางบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ภายใต้ชื่อทีม Mitsubishi Ralliart ได้เข้าร่วมทำการแข่งขัน และสามารถคว้าชัยชนะมาได้เป็นผลสำเร็จอยู่หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งตรงจุดนี้ ทำให้ทางบริษัทนั้นได้หยิบเอาเทคโนโลยีที่ใช้ในรถแข่งมาปรับปรุง และถ่ายทอดในรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนักขับทุกคน และนั่นเองก็คือจุดเริ่มต้นของรถสปอร์ตซีดาน(Sport Sedan)สายพันธุ์ร้อนแรงในตระกูลแลนเซอร์ที่มีชื่อว่า Mitsubishi Lancer Evolution หรือที่เรียกกันติดปากว่าอีโว(Evo) โดยจุดประสงค์ในการสร้างเจ้ารถรุ่นนี้ขึ้นมานั้นก็เพื่อที่จะตอบโจทย์การใช้งานของผู้ที่มีใจรักในเรื่องราวของความแรง อย่างถึงที่สุด
มาถึงตอนนี้ผมว่าเราไปทำความรู้จักกับเจ้ารถรุ่นนี้กันดีกว่าครับ ว่ามันมีกี่รุ่น กี่เจเนอร์เรชั่น แล้วแต่ละเจเนอร์เรชั่นนั้นมันมีหน้าตาแบบไหน ต่างกันอย่างไร ไปชมพร้อมๆ กันเลยครับ
โฉมที่ 10 (Generation 10)
เริ่มแรกกับโฉมปัจจุบัน อีโว 10(Evo X) รหัสตัวถัง CZ4A เผยโฉมในปี 2007 ถือได้ว่าเป็นการปฎิวัติครั้งใหญ่เพราะรูปทรงจะฉีกออกไปจากรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด โครงสร้างตัวถังพัฒนาให้ทนต่อแรงบิดได้มากขึ้นถึง 40% เพิ่มความยาวของตัวรถและฐานล้อ วัสดุอลูมิเนียมถูกนำมาใช้ในโป่งล้อคู่หน้า, ฝากระโปรง กันชนหน้า-หลัง เพื่อช่วยลดน้ำหนักตัวถัง มีรุ่นย่อย GSR และ RS โดยรุ่น GSR จะเป็นเวอร์ชั่นรถถนนใช้งานทั่วไปมีอุปกรณ์มาตรฐานครบครัน โช๊ค Bilstein พร้อมสปริง Eibach ระบบเบรค Brembo ส่วนรุ่น RS เป็นเวอร์ชั่นที่พร้อมจะเป็นรถแข่งอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันจะถอดออกหมด ทำให้รุ่น RS มีน้ำหนักเบากว่ารุ่น GSR เกือบ 100 กก. ขุมพลังพัฒนาขึ้นมาใหม่แทนเครื่อง 4G63 โดยเปลี่ยนเป็นเครื่องรหัส 4B11 ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบแถวเรียง ความจุ 2.0 ลิตร พร้อมวาล์วแปรผัน Mivec ทำงานควบคู่กับเทอร์โบชาร์จให้พละกำลังสูงสุด 280 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที และมีแรงบิด 43 กิโลกรัมเมตรที่ 3,500 รอบต่อนาที ส่วนระบบส่งกำลังในรุ่น GSR นั้น มีให้เลือก 2 แบบ คือ กึ่งอัตโนมัติ 6 สปีด Twin Clutch SST (Sport Shift Transmission) และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ส่วนรุ่น RS จะมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 สปีดเท่านั้น ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ S-AWC (Super All Wheel Control) มีโหมดการทำงาน 3 โหมด Tarmac, Gravel และ Snow และรุ่นโมดิฟายพิเศษ FQ-400 มีเฉพาะตลาดอังกฤษเท่านั้น ชุดแต่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น ชิ้นส่วนหลายชิ้นเปลี่ยนมาใช้ คาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อการลดน้ำหนัก พัฒนาเทอร์โบชาร์จให้มีแรงม้าสูงสุด 403 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 542 นิวตันเมตร ทำความเร็วจาก 0-100 กม/ชม. ภายใน 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกจำกัดไว้ที่ 255 กิโลเมตร ตามกฎหมาย
โฉมที่ 9 (Generation 9)
ตามด้วยโฉมที่ 9 หรือ อีโว 9 ที่เราเรียกกันนี้จะถูกผลิตขึ้นมาด้วยกัน 2 บอดี้คือบอดี้ 4 ประตูซีดาน(Sedan) สำหรับเจ้า Evolution IX นี้มันใช้รหัสตัวถัง GH-CT9A เผยโฉมในปี 2006 โดยมีรุ่นย่อยคือ GSR, RS, GT, MR ซึ่งถูกปรับปรุงกันชนหน้ามาจาก อีโว 8(Evo VIII) เป็นแบบเปิดกว้าง ช่วยระบายความร้อนให้กับอินเตอร์คูลเลอร์(Intercooler) ที่มาพร้อมกับพร้อมช่องไฟสปอร์ตไลท์(Sportlight) ส่วนภายในของ อีโว 9 ถูกดีไซน์ใหม่ แผงคอนโซลสีเทาดำลายเคฟล่าห์(Kevlar) เบาะนั่งคู่หน้าแบบบักเก็ตซีท(Bucketseat) จาก Recaro เป็นผ้ากำมะหยี่สลับกับหนัง อัลคันทาร่า(Alcantara) สำหรับเครื่องยนต์ยังคงเป็นรหัส 4G63T ที่ได้รับการพัฒนามาถึงขีดสุด ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีวาล์วแปรผัน MIVEC โดยย่อมาจากคำว่า Mitsubishi Innovative Valve Timing Electronic Control System มาติดตั้งเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยการเปลี่ยนชุดเทอร์โบ และอินเตอร์คูลเลอร์ไปใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่ารุ่นก่อน เพื่อรีดพละกำลังให้ได้มากที่สุดโดยให้กำลังสูงสุด 280 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที และมีแรงบิด 40.8 กิโลกรัมเมตรที่ 3,000 รอบต่อนาที ในรุ่น GSR และแรงบิด 41.5 กิโลกรัมเมตรที่ 3,000 รอบต่อนาที ในรุ่น GT และ RS สำหรับโฉม Evo IX นี้มีการจำกัดจำนวนการผลิตเอาไว้ที่ 5,000 คันเพียงเท่านั้น
และบอดี้แวกอน Evolution Wagon หรือที่ในบ้านเราเรียกกันว่า Evo Van ที่เผยโฉมในปี 2005 ใช้โครงสร้างตัวถังร่วมกับ Evo IX ปรับปรุงกันชนหน้าเพื่อรับลมระบายความร้อนให้ดียิ่งขึ้น เสริมโครงสร้างตัวถังด้านหลัง และบริเวณเบ้าโช๊คคู่หลัง เพิ่มจุดเชื่อมตัวถังอีกกว่า 50 จุดในบริเวณฝาประตูเก็บของด้านหลัง มาถึงขุมพลัง 4G63T มีให้เลือกถึง 2 รุ่น คือ GT จะมาพร้อมกับระบบวาล์วแปรผัน Mivec จับคู่เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ให้พละกำลัง 280 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดลดลงเหลือ 40 กิโลกรัมเมตร ที่ 3,000 รอบต่อนาที และรุ่น GT-A จะไม่มีระบบวาล์วแปรผัน พละกำลังจะอยู่ที่ 272 แรงม้า (เท่ากับรุ่น GT-A แบบซีดาน) ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดอยู่ที่ 35 กิโลกรัมเมตรที่ 3,000 รอบต่อนาที ในโฉม Evo IX เป็นโฉมสุดท้ายที่ใช้ ตัวถังร่วมกับ Lancer Cedia และขุมพลังระดับตำนานอย่าง 4G63T
ต่อมาเป็นเจเนอร์ชั่นที่ 8(Generation 8) หรือที่เรียกกันว่าอีโว 8 นี้ จะใช้รหัสตัวถัง CT9A โดยมีรุ่นย่อย 3 รุ่นคือ GSR, RS, MR ซึ่งถูกเผยโฉมออกมาในปี 2003 ซึ่งได้ทำการ Minor Change มาจากตัว อีโว 7(Evo VII) บริเวณกันชนหน้ามีโลโก้ตรงกลางทรง V Shape เสริม canard ด้านข้างกันชน ส่วนด้านใต้ห้องเครื่องมีแผ่นปิดบังลม เพื่อลดลมหมุนใต้ท้องรถ และสำหรับในรุ่น MR จะมีครีบจัดเรียงอากาศ(Blowtec Generator) ที่อยู่เหนือกระจกหลัง สำหรับขุมพลังนั้นถูกปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมาขึ้น ใช้ลูกสูบแบบฟอร์จ(Forged) และแหวนลูกสูบที่ถูกเคลือบด้วย ION Coat เสริมปะเก็นจาก 3 แผ่นเป็น 5 แผ่นเพิ่มบูส(Boost) เป็น 19 ปอนด์ ทำให้แรงบิดของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 40.8 กิโลกรัมเมตร ส่วนระบบส่งกำลังใน Evo VIII นั้นมีให้เลือกทั้ง 5 Speed และ 6 Speed ช่วงล่างโช๊คหน้า-หลังใช้ของ Bilstein แถมยังปรับความแข็ง-อ่อนได้ โฉม Evo VIII จำกัดการผลิต 5,000 คัน
โฉมที่ 7 (Generation 7)
ตามมาติดๆ กับ อีโว 7(Evo 7) ที่ใช้รหัสตัวถัง CT9A โดยจะมีรุ่นย่อย 3 รุ่นคือ GSR, RS และ GTA ถูกเผยโฉมครั้งแรกในปี 2001 สำหรับในโฉมนี้มันได้ถูกพัฒนามาจากรถบ้าน 4 ประตูซีดาน(Sedan) อย่าง แลนเซอร์ ซีเดีย(Lancer Cedia) โครงสร้างตัวถังได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ เพิ่มความแข็งแรงในจุดต่างๆ ซุ้มโช๊คหน้า-หลัง, คานหน้า, เสาประตู รวมไปถึงคานป้องกันการบิดตัว ฯลฯ ถูกลดน้ำหนักด้วยการใช้กระจกหน้าที่บางลง 10% ฝากระโปรงหน้าและแก้มข้างที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุอลูมิเนียม ส่วนทางด้านของเครื่องยนต์นั้นเป็นรหัส 4G63T ปรับปรุงทางเดินไอดี-ไอเสียให้มีความไหลลื่นเพิ่มความกว้างของอินเตอร์คูลเลอร์(Intercooler)อีก 20 ม.ม. แรงม้าสูงสุด 280 ตัวที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดขยับขึ้นเป็น 39 กิโลกรัมเมตร 3,500 รอบต่อนาที ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบใหม่ ACD (Active Center Differential) เป็นระบบแบ่งแรงบิดจากเครื่องยนต์ลงสู่ล้อคู่หน้าและหลังเท่าๆกัน ทำให้พวงมาลัยตอบสนองได้อย่างดี ทำงานควบคู่กับ AYC (Active Yaw Control) ที่อยู่ใกล้ๆ กับเฟืองท้ายทำให้สามารถควบคุมรถได้ในทุกสถานการณ์ สำหรับโฉม อีโว 7 นี้ได้เพิ่มรุ่นขึ้นมาอีกหนึ่งรุ่นคือ GT-A ที่ใช้ระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ INVECS-II ออกมาเป็นครั้งแรก โดยจะมีปุ่ม Sport Shift ที่เลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้ที่พวงมาลัย ทางด้านของพละกำลังนั้นลดลงไปเล็กน้อย 272 แรงม้า แรงบิด 35 กิโลกรัมเมตร เหตุผลเพราะใช้เทอร์โบขนาดเล็กเพื่อให้บูส(Boost) มาไวขึ้น และในโฉม Evo VII นี้จำกัดการผลิตที่ 10,000 คัน และในรุ่น GT-A จำกัดการผลิตที่ 2,000 คันเพียงเท่านั้น
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook