เขียนโดย: Salmon Power

เมื่อ: 3 กุมภาพันธ์ 2559 - 18:49

น้ำมันเครื่องสำคัญขนาดไหน ขับรถต้องรู้ ! เติมผิดไปงานเข้านะค้าบ !

 

ขับรถต้องรู้ น้ำมันเครื่องสำคัญขนาดไหน ! เติมผิดไปงานเข้านะค้าบ !

 

 
 

          น้ำมันเครื่องที่มีขายกันอยู่ตามท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Motul, Mobil-1, PTT, Shell, Eneos, Valoline, HKS ฯลฯ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะมีเกรดของน้ำมันเครื่องที่แตกต่างกันไป ซึ่งหลายคนก็อาจจะสงสัยว่าตัวเลขต่างๆที่ปรากฎอยู่บนฉลากของน้ำมันเครื่องแต่ละยี่ห้อนั้นมีความหมายว่าอะไร วันนี้ทาง Boxzaracing ก็ได้นำเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องมาฝากเพื่อนๆกันครับ

 

แต่ก่อนอื่นเราไปทราบประโยชน์ของน้ำมันเครื่องกันก่อนดีกว่าครับ

 

 

  • ช่วยหล่อลื่นเครื่องยนต์ อันนี้เป็นประโชยน์หลักของน้ำมันเครื่องเลยก็ว่าได้ โดยน้ำมันเครื่องจะไปสร้างชั้นฟิลม์บางๆเคลือบชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องยนต์เพื่อลดการเสียดสีกันในการทำงานของเครื่องยนต์
  • ช่วยลดความร้อนของเครื่องยนต์ โดยเมื่อน้ำมันเครื่องไหลกลับลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องก็จะนำพาความร้อนที่สะสมอยู่ภายในเครื่องยนต์ลงไปด้วย ซึ่งสามารถช่วยลดความร้อนเครื่องยนต์ได้ในระดับนึง
  • ช่วยป้องกันการรั่วของกำลังอัด โดยตัวน้ำมันเครื่องนั้นจะเป็นแผ่นฟิลม์ที่เคลือบผนังของกระบอกสูบทำให้สามารถป้องกันการรั่วไหลของกำลังอัดที่กระบอกสูบได้
  • ทำหน้าที่ทำความสะอาด ซึ่งตัวน้ำมันเครื่องนั้นจะชะล้างเศษโลหะที่เกิดจากการเสียดสีกันภายในเครื่องยนต์และนำลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องเพื่อป้องกันการอุดตัน

 

          ซึ่งจากประโยชน์ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าตัวน้ำมันเครื่องนั้นมีความสำคัญกับเครื่องยนต์อย่างมาก ดังนั้นในการเลือกน้ำมันเครื่องเราต้องดูที่ 3 ส่วนหลักๆนั้นก็คือ

 

 
 

ประเภทของน้ำมันเครื่อง โดยน้ำมันเครื่องนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

  1.  น้ำมันเครื่องชนิดธรรมดา จะมีระยะเวลาการใช้งานประมาณ 4000 กิโลเมตร 
  2.  น้ำมันเครื่องชนิดกึ่งสังเคราะห์ จะมีระยะการใช้งานประมาณ 6000 กิโลเมตร 
  3.  น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % จะมีระยะการใช้งานประมาณ 10000 กิโลเมตร
 

เกรดของน้ำมันเครื่อง
         โดยน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดจะมีเกรดของน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะต้องส่งน้ำมันเครื่องของตนเองนั้นไปทดสอบคุณภาพที่สถาบัน AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE หรือ API โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่

  • เกรดน้ำมันเครื่องสำหรับสำหรับน้ำมันเบนซิน โดยเกรดน้ำมันเครื่องประเภทนี้ จะมีตัวอักษร S ตามหลัง API และจะนำหน้าเกรดของน้ำมันเครื่องนั้นๆ ซึ่งจะเรียงลำดับจากเกรดที่ต่ำสุด-เกรดที่สูงสุด จาก A-Z เช่นน้ำมันเครื่องตัวนี้ได้เกรด L ตัวอักษรข้างกระป๋องก็จะเขียนว่า API SL เป็นต้น
  • เกรดน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยเกรดน้ำมันเครื่องประเภทนี้ จะมีตัวอักษร C ตามหลัง API และจะนำหน้าเกรดของน้ำมันเครื่องนั้นๆ ซึ่งจะเรียงลำดับจากเกรดที่ต่ำสุด-เกรดที่สูงสุด จาก A-Z เช่นน้ำมันเครื่องตัวนี้ได้เกรด I ตัวอักษรข้างกระป๋องก็จะเขียนว่า API CI-6 ซึ่งตัวเลข 6 ที่ตามหลังนั้นจะบอกว่าน้ำมันเครื่องชนิดนี้เหมาะกับเครื่องยนต์ 6 สูบ เป็นต้น

          แต่จริงๆแล้วนั้นน้ำมันเครื่องนั้นสามารถใช้ได้ทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล แต่จะมีความเหมาะสมที่แตกต่ากันเช่น ถ้าน้ำมันเครื่องตัวนี้เหมาะกับเครื่องยนต์เบนซินมากกว่า ตัวอักษรก็จะเป็น API SL/CI-6 แต่ถ้าน้ำมันเครื่องตัวนี้เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลมากกว่า ตัวอักษรก้จะกลายเป็น API CI-6/SL เป็นต้น

 

 

ความหนืดของน้ำมันเครื่อง
          โดยค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องนั้นจะถูกทดสอบโดยสถาบัน สมาคมวิศวกรรมยานยนต์หรือ SAE (SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS) โดยค่าความหนืดนั้นจะเป็นตัวเลข 5,10,15,30,40,50 ดังตัวอย่างเช่น

 

 
 
  • 5W : หมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องในอุณหภูมิที่ติดลบหรืออุณหภูมิที่เย็นจัด ซึ่งน้ำมันเครื่องตัวนี้มีค่าความหนืดอยู่ในเกรดที่ 5
  • 40 : หมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องในอุณหภูมิ 100 องศา ซึ่งน้ำมันเครื่องตัวนี้มีค่าความหนืดอยู่ในเกรดที่ 40

          โดยตัวเลขที่แบ่งเกรดค่าความหนืดนั้น ถ้าตัวเลขยิ่งมาก ก็แสดงว่าค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องตัวนั้นยิ่งสูงตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งในประเทศไทยการเลือกค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องควรดูเฉพาะค่าหลังเป็นสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่มีอากาศที่หนาวเย็นถึงขนาดติดลบจึงไม่จำเป็นต้องกังวลตัวเลขด้านหน้าเท่าใดนัก

 

 

 
 

          ซึ่งปกติแล้วการเลือกน้ำมันเครื่องของรถแต่ละคันนั้นให้อิงตามคู่มือที่ติดมากับตัวรถโดยค่าปกตินั้นจะอยู่ที่ 40 ในค่าความหนืดตัวหลัง แต่ถ้าเกิดเมื่อใช้รถยนต์หนักและเครื่องยนต์มีอายุมากและกินน้ำมันเครื่อง ควรมีการปรับเบอร์ขึ้นไปเป็นเบอร์ 50 เพื่อป้องกันการรั่วของกำลังอัด แต่ถ้ารถยนต์อยู่ในสภาพปกติและอากาศไม่ร้อนมาก ควรเลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดน้อยๆเพื่อที่ตัวน้ำมันเครื่องจะได้สามารถไหลผ่านไปได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดน้อยเกินไป ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ไม่มีฟิลม์ไปเคลือบชิ้นส่วนโลหะภายใน ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควรนั่นเอง

          เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับความรู้เรื่องรถเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องที่ทาง Boxzaracing.com นำมาฝากเพื่อนๆในวันนี้ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กันบ้างนะครับ สำหรับคราวหน้า Boxzaracing จะมีเกร็ดความรู้เรื่องไหนมาฝากอีกก็คงต้องติดตามกันนะครับ สำหรับวันนี้คงต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ

 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook